วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความรู้เรื่องสีพ่นรถยนต์



ช่วงที่ฝนตกบ่อย ๆ อย่างนี้ เวลาขับรถก็มักจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะสายฝนที่ตกลงมานั้นนอกจากจะทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่จะแย่ลงแล้ว ยังทำให้ถนนลื่นกว่าปกติอีกด้วย ดังนั้นเราจึงเห็นกันได้บ่อย ๆ ว่าพอฝนตกรถก็มักจะชนกัน เนื่องจากเบรกไม่อยู่

สำหรับคุณผู้อ่านที่ประสบอุบัติเหตุทั้งที่เป็นคนไปชนเขาและถูกเขามาชน หลังจากจัดการเรื่องประกันกับคู่กรณีกันเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงคราวต้องเอารถเข้าอู่ไปซ่อมตัวถังและทำสีกันล่ะ ซึ่งคุณผู้อ่านก็ควรจะมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการซ่อมสีรถยนต์เอาไว้ บ้าง เวลาคุยกับช่างจะได้รู้ว่าช่างเขาเอาสีแบบไหนมาพ่นรถเรา และสีแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

สีพ่นซ่อมรถยนต์ สรุปได้พอสังเขป  ดังนี้

1. สีมีหน้าที่หลักอยู่ด้วยกัน 2 ประการ คือ
      ก. เพื่อป้องกันพื้นผิววัสดุจากมลภาวะต่างๆ
      ข. เพื่อตกแต่งให้แลดูสวยงาม

2. สารประกอบหลักของสี มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภทคือ
       ก. ผงสี (Pigment) เป็นสารที่มีความสามารถในการปิดบังพื้นผิวหรือซ่อนแสง ผงสีอาจเป็นสารประกอบอินทรีย์หรืออนินทรีย์ก็ได้
      ข. สารยึด (Binder) คือสารที่ทำหน้าที่ยึดประสานอนุภาคของสารประกอบในสีเข้าไว้ด้วยกัน ให้เกิดเป็นฟิล์มของสีติดแน่นกับพื้นผิวที่ถูกเคลือบ ตัวอย่างของสารยึด ได้แก่ นํ้ามันแห้งเร็ว (Drying Oil) เรซินธรรมชาติ เรซินสังเคราะห์ เป็นต้น สำหรับเรซินที่ใช้ในส่วนของสี พ่นรถยนต์จะนิยมใช้เรซินสังเคราะห์ เช่น ไนโตรเซลลูโลส อะครีคิด ยูรีเทน อีพอกซี เป็นต้น
      ค. ตัวทำละลาย (Solvent)มีหน้าที่ช่วยปรับความหนืดของสี เพื่อให้เหมาะต่อการผลิต หรือสะดวกต่อการใช้ ตัวทำละลายส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์
       ง. สารเติมแต่ง (Additives)เป็นสารที่เติมลงไปในสีเพียงเล็กน้อย  เพื่อช่วยให้สีมีคุณสมบัติที่พิเศษ เช่น ทำให้สีแห้งเร็วขึ้น ทำให้สีไม่ขึ้นรา เป็นต้น

3. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสีพ่นซ่อมรถยนต์
3.1  สี 1K    คือสีระบบ 1 องค์ประกอบ (1 Komponent) คือประกอบด้วยส่วนของตัวสีเพียงอย่างเดียว เมื่อนำมาใช้งานจะผสมกับตัวทำละลาย เช่น ทินเนอร์  สี 1K จะมีทั้งแบบแห้งเร็วและแห้งช้า
3.2  สี OEM   คือ สีที่ใช้ในโรงงานประกอบรถยนต์ สีชนิดนี้มีเพียงองค์ประกอบเดียว ในการใช้งานอาจนำมาผสมกับตัวทำละลายเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น สีชนิดนี้จะแห้งตัวโดยการการอบที่อุณหภูมิสูงประมาณ 120-160 oC จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สีอบ" (High Bake Paint)
3.3  สี 2K   คือสีระบบ 2 องค์ประกอบ (2 Komponent) คือประกอบด้วยส่วนของตัวสี ซึ่งคือองค์ประกอบที่ 1 และตัวเร่งปฏิกิริยา (Hardener หรือ Activator) ซึ่งคือองค์ประกอบที่ 2 โดยก่อนใช้งานต้องนำทั้ง 2 องค์ประกอบมาผสมกันตามอัตราส่วน เพื่อให้เกิดการทำปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งจะทำให้สีเกิดการแห้งตัว (Chemical Drying)   สี 2K ที่ใช้ในงานพ่นสีรถยนต์ มี 2 ชนิด  คือ  สี 2K แบบ อีพ๊อคซี  และสี 2K แบบโพลียูริเทน  จึงมักเรียก สี 2K ว่า  สีแห้งช้า

4. เหตุผลที่ทำให้สี 2K มีคุณสมบัติดีกว่าสี 1 K
4.1   Durability – ความทนทาน รถยนต์ที่ซ่อมสีโดยใช้ระบบสี 2K จะคงสภาพเดิมและมีระยะเวลาคงสภาพเดิมได้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี
4.2   Weather resistance – ความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
4.3   Chemical resistance – สามารถทนทานต่อสารเคมีต่างๆได้ดี เช่น ทินเนอร์ น้ำมันเบรก
4.4   Color retention – สามารถคงสภาพสีเดิม ไม่ซีดจางจากเดิมง่าย
4.5   Gloss – มีความเงางามสูง
4.6   ให้คุณสมบัติเหมือนสีรถที่ออกจากโรงงานประกอบรถยนต์ O.E.M ( Original Equipment Manufacturing

5. ส่วนประกอบหลักของระบบสี 2K
 สี 2K มีส่วนประกอบที่สำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ
 1. ส่วนที่เป็นเนื้อสี ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
A   กาวหรือเรซิ่น (RESIN) หรืออาจเรียกว่า BINDER หรือ FILM FORMER ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะของส่วนประกอบอื่นๆของสี 
B   ผงสี  (PIGMENT)  เป็นสารที่ทำหน้าที่ในการปกปิดพื้นผิว  และทำให้เกิดสีสันต่างๆ เช่นดำ แดง เหลือง
C    ตัวทำละลาย  (SOLVENT)  ทำหน้าที่ในการช่วยให้ผงสีและเรซิ่น กระจายตัวเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน  ทั้งยังทำหน้าที่ในการเจือจางหรือปรับความข้นเหลวของสีให้เหมาะสมสำหรับการใช้งาน
D  สารปรับแต่ง  (ADDITIVE)  เป็นส่วนประกอบที่หน้าที่เพิ่มคุณสมบัติหรือลดข้อด้อยบางอย่างของสี  เช่น ช่วยให้ฟิล์มเรียบขึ้น  ช่วยป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลตจากแสงอาทิตย์  ช่วยป้องกันการแยกตัวของผงสีและเรซิ่น  ป้องกันการตกตะกอน เป็นต้น
 2.   ส่วนที่เป็นตัวเร่งที่ทำให้สีแข็งตัว (Hardener หรือ  Activator)
ส่วนนี้จะแยกออกจากส่วนแรกโดยเด็ดขาด เมื่อจะนำสีไปใช้งานจึงค่อยผสมส่วนนี้ลงไป และน้ำยานี้ก็เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ เนื่องจากถ้าไม่ใส่น้ำยานี้เข้าไปในสีและนำสีไปใช้ สีจะไม่แห้งแข็งเป็นฟิล์ม ซึ่งน้ำยานี้ส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของไอโซไซยาเนท (Isocyanate)

6. การแห้งตัวของสี 
            ลักษณะการแห้งตัวของฟิล์มสีสามารถแบ่งได้  2  แบบ  คือ
              1. แห้งโดยกรรมวิธีทางฟิสิกส์  ( Physical Drying ) การแห้งด้วยวิธีการนี้เกิดจากการระเหยของตัวทำละลาย   กลายเป็นฟิล์มยึดติดกับผิวหน้าด้วยพันธะทุติยภูมิ  ( Secondary Force ) อย่างอ่อนๆ
  2. แห้งโดยกรรมวิธีทางเคมี  ( Chemical Drying ) ฟิล์มที่ได้จากการแห้งตัวโดยวิธีการนี้จะยึดติดกับผิวหน้าด้วยพันธะปฐมภูมิ  ( Primary Bond )  จากการเกิดปฎิกิริยาเคมี แบ่งได้ 2  แบบ  คือ
2.1. แห้งโดยการเกิดปฎิกิริยาออกซิเดชั่น  สีประเภทนี้จะดูด ออกซิเจนในอากาศเกิดปฎิกิริยาออกซิเดชั่น   ทำให้ขนาดอณูของสี ใหญ่ขึ้นจนรวมตัวเป็นฟิล์มแห้งแข็งตามต้องการ
            2.2. แห้งโดยการเกิดปฎิกิริยาเคมี   สีประเภทนี้ส่วนใหญ่บรรจุใน ภาชนะแยกกัน ก่อนใช้จึงนำมาผสมกันตามอัตราส่วนที่ผู้ผลิตแนะนำ  ซึ่งเมื่อผสมแล้วจะเกิดปฎิกิริยาเคมีได้เป็นฟิล์มที่แห้งแข็ง  ดังนั้นเมื่อผสมแล้วจึงต้องใช้ให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ถ้าปฎิกิริยาเกิดที่อุณหภูมิห้องจะเรียกว่าสีชนิดนี้ว่า สีบ่มเย็น ตัวอย่างเช่น ยูเรียเรซิน ( Urea Resin ) โพลิยูรีเทนเรซิน ( Polyurethane Resin )   เป็นต้น  แต่ถ้าการเกิดปฎิกิริยาต้องใช้  อุณหภูมิสูง   เรียกสีชนิดนี้ว่า  สีอบ (Stoving or baking coatings)

7. ความปลอดภัยในการปฎิบัติงานสี
          การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีนั้นเป็นงานที่อันตรายอย่างยิ่ง   ถ้าไม่รู้จักวิธีป้องกันตัวเองจากสารเคมีเหล่านั้นก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งในขณะปฏิบัติและในอนาคต    การป้องกันที่ดีและสามารถทำได้ก็คือ   การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเพื่อปกปิดร่างกายไม่ให้สัมผัสกับสารเคมีเหล่านั้นโดยตรง ในงานสีมีอุปกรณ์ความปลอดภัยอยู่หลายอย่าง  เช่น แว่นตา  หน้ากากป้องกันละอองสี   ชุดพ่นสี   ถุงมือ  เป็นต้น

8.อุปกรณ์สำหรับงานพ่นสี 
          ปืนพ่นสี (Spray Gun)
ปืนพ่นสี (Spray Gun)   ระบบการทำงานของปืนพ่นสีแบ่งออกเป็น  2 แบบ  คือ  
             1. ระบบแบบดูด
             2. ระบบแแบบอัด
                             
         1. ระบบแบบดูด  อากาศจะไหลผ่านบริเวณหัวสีของปืนพ่นสี   ทำให้เกิดเป็นสูญญากาศที่
  บริเวณดังกล่าวบวกกับแรงกดของแรงโน้มถ่วงทำให้สีไหล   ระบบแบบนี้ยังแบ่งเป็นปืนพ่นสีได้อีก  2  แบบ  คือ
             1.1 ปืนพ่นสีแบบถ้วยอยู่ด้านบน  (Gravity Feed Spray Gun)
            1.2 ปืนพ่นสีแบบถ้วยอยู่ด้านล่าง  (Suction Feed Spray Gun)
         2. ระบบแบบอัด  จะใช้แรงดันจากปั๊มที่ส่งมาอัดเข้าไปภายในถ้วยที่บรรจุสีและดันให้สีออก
มายังหัวสีของปืนพ่นสี   ระบบแบบนี้จำเป็นต้องมีวาล์วปรับแต่งแรงดันไม่เกินที่ถ้วยจะรับได้

9.ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบงานสีรถยนต์
          ปัญหาสีย่น สีแตกลายงา
             1. เกิดจากช่างพ่นสีทิ้งช่วงระยะเวลาระหว่างพ่นน้อยเกินไป เนื่องจากพ่นสีหนาเกินไป
             2. เกิดจากการโป๊วพลาสติค ที่มีความชื้นมากเกินไป เมื่อพ่นสีทับจึง เกิดการระเหยตัวของความชื้นด้านใต้ ดันสีจนย่นหรือพองตัว
             3. เกิด จากสีที่ใช้พ่นต่างชนิดกันกับ สีเดิมที่ใช้พ่นมา
             4. เกิด จากทินเนอร์ หรือ แล็คเกอร์ หรือสารเคมีอื่นที่ใช้ เสื่อมคุณภาพ
 5. อาการ แตกลายงา เกิดจากสีโป๊วเก็บรอย ที่ช่างเรียกกันว่า สีโป๊วแดง หนามากเกินไปเมื่อใช้ไปนานๆ จะเกิดอาการแตกร้าว ทางแก้ไขก็คือ ลอกทิ้งสถานเดียว
กรณีที่ 1 - 4 มักเกิดขึ้นในขณะทำการซ่อม ส่วนกรณีที่ 5 มัก เกิดหลังจากส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้าไปแล้วนานหลายเดือน บางรายเป็นปีก็มี การลอกทิ้งเพื่อทำการแก้ไข บางกรณี อาจต้องขูดทิ้งถึงเนื้อเหล็กทำความสะอาดชิ้นงานใหม่ทั้งหมด ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากช่างพ่นสี ที่ต้องมีความรอบคอบ มีประสบการณ์ พิถีพิถันพอสมควร ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความเสียหายอย่างนี้

งานสีพ่นซ่อมรถยนต์
ในงานสีพ่นซ่อมรถยนต์  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้เรื่องสีและประเภทของสีที่ใช้ในงานพ่นซ่อมสี รถยนต์ รวมถึงคุณภาพของสีที่จะนำมาใช้ในงานพ่นสีซ่อมรถยนต์ ว่าสีที่นำมาใช้มีคุณภาพเป็นอย่างไร  มีการแห้งตัวดีหรือไม่  และในขั้นตอนการพ่นสีในแต่ละครั้งมีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีดีมากน้อยเพียงใดมีความปลอดภัยหรือไม่  และต้องศึกษาขั้นตอนการปฏิบัติงานทั้งขั้นตอนการเตรียมงานที่จะพ่นสี  ขั้นตอนการเตรียมสีหรือการผสมสีที่จะพ่น  ขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์สำหรับพ่นสีจะต้องทำความสะอาดก่อนและหลังการพ่นสีทุกครั้ง  การพ่นสีจำต้องมีระบบลมเข้ามาช่วยเพื่อปรับแรงดันในพ่นสีนั้น  ต้องเรียนรู้ในการใช้ลมดันอย่างถูกต้องเพื่อจะได้เกิดความปลอดภัยในงานพ่นสี  ในการพ่นสีรถยนต์นั้นจำเป็นต้องมีที่พ่นสีโดยเฉพาะ  เพราะ ต้องคำนึงถึงการกรองอากาศที่ปนเปื้อนด้วยละอองสี ต้องกรองด้วยแผ่นกรองอากาศและแผ่นกรองละอองสีก่อนที่จะปล่อยอากาศที่สะอาด ออกไปภายในชั้นอากาศ   การใช้สี ที่มีคุณภาพ การใช้สถานที่ที่เหมาะสม การใช้อุปกรณ์ที่ดีในการพ่นสีรถยนต์แต่ก็ยังมีปัญหาที่ช่างพ่นสีต้องพึง ระวังและต้องทำการตรวจเช็คสภาพของสีก่อนส่งมอบรถให้กับลูกค้า ปัญหาต่างๆที่พบและเกี่ยวกับระบบงานสีรถยนต์  คือ  ปัญหาสีย่น และสีแตกลายงา  ปัญหาเหล่านี้เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การโป๊วสี  การพ่นสีทิ้งช่วงระยะ  การพ่นทินเนอร์หรืแล็คเกอร์ เป็นต้น
 
สำหรับสีที่ใช้พ่นรถยนต์กันในปัจจุบันจะแบ่งได้ 3 ประเภทใหญ่คือ สีโออีเอ็ม (Original Equipment Manufacturer) สีแบบ 1เค และสีแบบ 2เคสีแบบโออีเอ็มนั้นพูดกันแบบง่าย ๆก็คือสีที่ทำจากโรงงาน สีแบบนี้จะมีคุณสมบัติที่ดีมากหลังจากเข้าห้องอบ จนสีแห้งตัวแล้วคือมีความแข็งแรงของชั้นฟิล์มสีสูง มีการยึดเกาะที่ดีเยี่ยม ให้ความเงางาม สามารถทนทานต่อสารเคมีต่าง ๆ หรือตัวทำละลายอย่างทินเนอร์ น้ำมันเบนซินหรือดีเซล และน้ำมันเบรกได้ดีมาก รวมทั้งสามารถทนทานต่อแสงแดดได้ดี จึงไม่ซีดจางง่าย

แต่ถ้าคุณอยากเอารถไปทำสีแบบนี้ เพื่อให้รถของคุณกลับมาสวยเงางามเหมือนเมื่อออกจากโชว์รูมใหม่ก็คงจะเป็น เรื่องยากอยู่สักหน่อย เพราะการอบแบบสีโออีเอ็มขนานแท้แบบโรงงานนั้น จะต้องใช้ห้องอบสีที่มีอุณหภูมิอบที่สูงมาก ประมาณ 120-160 องศาเซลเซียส ซึ่งที่อุณหภูมิสูงขนาดนี้ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ไม่ใช้โลหะไม่สามารถทนความร้อนได้แน่นอน ดังนั้นคุณต้องจัดการถอดชิ้นส่วนต่าง ๆ ออกให้หมด ซึ่งรับรองได้ว่าไม่สนุกแน่นอน ดังนั้นเรามองข้ามการพ่นสีแบบโออีเอ็มนี้ไปได้เลย

ทีนี้ก็มาถึงสีแบบ 1เค กับ 2เค ซึ่งเป็นที่นิยมใช้เวลาซ่อมสีรถยนต์ สำหรับตัวเค (K) ที่ต่อท้ายเลข 1 กับ 2 นั้นเป็นคำย่อจากภาษาเยอรมันว่า คอนโพเนนต์ ซึ่งแปลว่าองค์ประกอบ ดังนั้นสี 1เค คือสีที่มีเนื้อสีเป็นส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว เวลาจะใช้งานก็ต้องผสมเนื้อสีกับตัวทำละลาย สีจะแห้งตัวได้เมื่อตัวทำละลายระเหยไป ส่วนสี 2เค จะเป็นสีที่มี 2 องค์ประกอบคือมีเนื้อสีและตัวเร่งปฏิกิริยา  ซึ่งก่อนใช้งานต้องนำทั้ง 2 องค์ประกอบมาผสมกันตามอัตราส่วน เพื่อให้เกิดการทำปฏิกิริยาทางเคมีและทำให้สีเกิดการแห้งตัว

สำหรับการพ่นซ่อมสีรถยนต์ในอู่หรือศูนย์ซ่อมสีทั่วไปนั้น ช่างจะเลือกใช้สีได้แค่ 2 แบบคือสี 1เค หรือสี 2เค เท่านั้น แต่ถ้าอยากจะให้งานสีออกมาดูดี อู่หรือศูนย์ซ่อมสีดี ๆ จะใช้สีแบบบ 2เค เนื่องจากมีคุณภาพโดยรวมที่ดีกว่าสี 1เค มากคือมีความแข็งแรงของชั้นฟิล์มสีสูง ทนทานต่อสารเคมีและตัวทำละลาย เช่น ทินเนอร์ น้ำมันเบนซินหรือดีเซล และน้ำมันเบรกได้ดี นอกจากนี้ยังมีการยึดเกาะที่ดีเยี่ยมให้ความเงางามสูง รวมทั้งสามารถทนทานต่อแสงแดดได้ดีจึงไม่ซีดจางง่าย โดยรวมแล้วมีคุณภาพใกล้เคียงกับสีจากโรงงานเลยทีเดียว แต่ในขณะเดียวกัน เวลาในการทำงานและค่าใช้จ่ายก็สูงกว่าสี 1เค ด้วย

สี 1เค นั้นมักจะเป็นทางเลือกของลูกค้าที่มีงบน้อย ไม่เน้นความละเอียดของงาน ต้องการความรวดเร็ว อย่างงานซ่อมสีรถแท็กซี่ที่ต้องเอารถออกวิ่งหาเงินโดยเร็ว หรือบรรดาร้านขายรถมือสองที่ต้องเก็บรอยตำหนิต่าง ๆ ก่อนเอานำไปขายต่อเพื่อไม่ให้ราคาขายต่อตก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสัก 2-5 ปี คุณภาพของสีที่ด้อยกว่าจะทำให้สภาพสีเปลี่ยนไป เช่น สีบวม ลอก หรือซีดจางลง เป็นต้น

สรุปโดยรวมแล้ว ถ้าเป็นรถบ้านที่มีประกันชั้น 1 หรือมีงบพอ แนะนำว่าควรจะเลือกใช้สีแบบ 2เค และควรสอบถามดูให้แน่ใจด้วยว่าสีที่อู่เอามาพ่นให้นั้นเป็นสีแบบที่เราต้องการจริง ๆ และต้องมีการรับประกันงานหลังจากทำสีแล้วด้วย เพื่อว่าเมื่อมีปัญหาภายหลังจะได้นำรถกลับไปให้ทางอู่แก้ไขได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย.

3 ความคิดเห็น:

  1. มีข้อมูลกระบวนการผลิตสีรถยนตืป่าวครับ

    ตอบลบ
  2. ความรู้ล้วนๆเลยครับ

    ตอบลบ
  3. รบกวนสอบถามครับ การเข้าห้องอบสีมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนครับ ใช้การตากแดดแทนกันได้ไหมสำหรับสี 2k ขอบคุณครับ

    ตอบลบ